ปรัชญาหลักสูตร
การจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา (Upper School) เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งพัฒนาศักยภาพสูงสุดของผู้เรียน มุ่งหมายให้นักเรียนได้ค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบการทำโครงงาน (Project-based learning) บูรณาการด้วยเทคโนโลยี วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทย ศีลธรรมจรรยาและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร จนติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และสามารถใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี อันจะทำให้นักเรียนมีความสามารถ มีสมรรถนะ ในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในชีวิตจริง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างบุคลิกภาพนักเรียนให้เป็นนวัตกร ผู้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เป็นพลเมืองโลกที่มีจิตสำนึกต่อสังคมและจริยธรรมอันดีงาม
แนวคิดหลักสูตร
หลักสูตรสถานศึกษา ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ เนื้อหาความรู้ครอบคลุม 8 สาระวิชาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ช่วงชั้นที่ 3 และ 4 และเพิ่มการฝึกทักษะประสบการณ์วิชาชีพ ทักษะชีวิต และความถนัดเฉพาะทางเพื่อพัฒนานักเรียนให้ค้นพบความถนัดในวิชาชีพของตน เพื่อการพัฒนาศักยภาพองค์รวมของนักเรียน โดยการเรียนแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาพื้นฐาน โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงขึ้นจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความคุณธรรมควบคู่ไปกับความรอบรู้ โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่มีคุณภาพในอนาคต
แนวการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิชาการ
- ครูผู้สอนทุกคนมีรอบความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาสาระ รวมถึงพัฒนาการของผู้เรียน รู้จักผู้เรียนทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ภูมิหลังด้านจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม ควาสนใจใคร่รู้ ความถนัด ความสามารถ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการเรียนรู้ เพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน 1
- ครูผู้สอนออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จัดทำแผนการเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ครอบคลุมมาตรฐาน และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด รวมไปถึงการออกแบบวิธีการวัดและประเมินการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2
- กิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน ดำเนินไปภายใต้แนวคิดการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Active -based learning) ผสมผสานกับการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry – based learning) กล่าวคือ ผู้เรียนได้ดำเนินการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ในรูปแบบของห้องเรียนเชิงปฏิบัติการ ศึกษาและค้นคว้าจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ภายในโรงเรียน นอกโรงเรียน และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและท้องถิ่น รวมไปถึงสถาบันหรือหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรกับโรงเรียน 3
- การจัดการเรียนรู้มุ่งเน้นไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน บูรณาการเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์โลก วิถีชีวิตของสังคมและท้องถิ่น ทั้งภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้และข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 4
- พัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่งานทางวิชาการกับสถานศึกษาและสถาบันอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ และเครือข่ายด้านการสนับสนุนการเรียนการสอน 5
การปรับปรุงและพัฒนาการหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาครั้งนี้ ได้นำหลักการและโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คือ ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ แต่มุ่งเน้นการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี วิทยาการต่างๆ เตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life – long learning) พร้อมที่จะประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา หรือสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า “พัฒนาพลเมืองไทย ให้เป็นพลเมืองโลก” รายละเอียดของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้มีดังนี้
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เข้าใจและชื่นชมรวมทั้งเห็นคุณค่าวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยตลอดจนมีความภาคภูมิใจในภาษาประจำชาติ
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนนำความรู้ ทักษะ และกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและเพื่อการศึกษาต่อ สร้างเสริมบุคลิกภาพการมีเหตุผล เป็นผู้มีเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ พัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนนำความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สร้างเสริมให้เป็นคนคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุข เป็นพลเมืองดี ศรัทธาในหลักธรรมของศาสนา เห็นคุณค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รักชาติและภูมิใจในความเป็นไทย
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพละศึกษา
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะและเจตคติในการสร้างเสริมสุขภาพพลานามัยของตนเองและผู้อื่น รู้จักการป้องกันและปฎิบัติต่อสิ่งต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพอย่างถูกวิธี รวมทั้งใช้ความรู้เป็นทักษะในการดำเนินชีวิต
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะในการคิดริเริ่ม มีจินตนาการ สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะ มีสุนทรียภาพและการเห็นคุณค่าทางศิลปะ
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และเทคโนโลยี
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะและเจตคติในการทำงาน มีความสามารถในการจัดการ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อการประกอบอาชีพและการใช้เทคโลยี
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ มีทักษะและเจตคติ รวมทั้งเข้าใจวัฒนธรรมการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสาร สามารถใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และการประกอบอาชีพ
วิชาโครงงาน เป็นส่วนหนึ่งในวิชาการงานอาชีพ โดยผู้เรียนจะเป็นผู้เลือกทำโครงงานจากสิ่งที่ตนเองสนใจในแต่ละภาคการศึกษา สำหรับสิ่งที่นักเรียนสนใจจะเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาต่างๆ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์และรายวิชาอื่นๆ ที่นักเรียนสนใจและมีความเกี่ยวโยงกัน อาจจะอยู่ในรายวิชาดังกล่าวหรือจะเป็นสาขาอื่นๆ ทีมครูจะเปิดบ้านเรียนรู้ตามความถนัดของครูและความสามารถในการช่วยเหลือ สนับสนุนผู้เรียนให้ทำโครงงานตามที่สนใจ
รูปแบบการจัดการเรียนรู้
ครูผู้สอนจะเป็นผู้ออกแบบบ้านเรียนให้ครอบคลุมในรายวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ เพื่อรองรับการทำโครงงานของนักเรียนในแต่ละภาคเรียน โดยผู้เรียนจะออกแบบแผนการเรียนรู้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอให้ครูประจำบ้านเรียนได้ดูแผนการทำงานขั้นแรก ตามแนวคิดของ “FILA” ประกอบไปด้วย
- F (Fact) คือ ข้อเท็จจริง เหตุผลที่สำคัญ ที่ทำให้นักเรียนต้องการโครงงานนี้ F
- I (Idea) คือ แนวความคิดที่นักเรียนอยากจะสร้างโครงงานขึ้นมา I
- L (learning issue) คือ องค์ความรู้ที่นักเรียนคิดว่า การทำโครงงานนี้ให้สำเร็จ นักเรียนต้องเรียนรู้อะไรบ้าง L
- A (Action plan) คือ แผนการจัดการเรียนรู้ตนเองตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์ A
นักเรียนแต่ละคนจะใช้เวลาในวันแรกของการเปิดภาคเรียนเพื่อจัดการความคิดและความสนใจของตนเองเขียน FILA ใส่กระดาษเพื่อนำเสนอครู โดยครูจะเป็นผู้ช่วยแนะนำนักเรียนว่าโครงงานที่นักเรียนสนใจนั้นมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเรียนใดมากที่สุดและแนะนำนักเรียนเข้าสู่บ้านเรียนนั้นๆ เมื่อนักเรียนได้ผ่านการเขียน FILA และเลือกเข้าบ้านที่เหมาะสมกับโครงงานตนเองแล้ว นักเรียนทำการสอบเข้าบ้าน “Defend project” โดยอธิบายแนวคิดทฤษฎี องค์ความรู้ การอ่านวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง แผนงานต่างๆ จากการเขียน FILA เพิ่มเติม เพื่อให้ครูผู้สอนประจำบ้าน ร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเกิดโครงงานขึ้น
เมื่อนักเรียนได้ผ่านการสอบเข้าบ้านเรียนแล้ว อาจจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยในบ้านเรียน เพื่อจัดกลุ่มการทำโครงงานที่ใกล้เคียงกันให้อยู่เรียนรู้ร่วมกัน ประจำกับครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ ผู้เรียนจะต้อง เขียนแผนการทำงานล่วงหน้า บันทึกในสมุดบันทึกการเรียนรู้ “Journal” จดเรื่องราว ประสบการณ์ที่พบเจอตลอดการทำงานและสรุปลงเป็นองค์ความรู้สำหรับเขียนรายงานโครงงานของตนเอง ในระหว่างการทำโครงงานนักเรียนจะได้เจอกับปัญหาในการทำโครงงาน ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี โปรแกรม เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถแก้ไขหรือช่วยอธิบายการทำโครงงานให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยจะมีครูผู้สอนเป็นผู้สนับสนุน แนะแนวการสืบค้นข้อมูลดังกล่าว ในช่วงสัปดาห์ที่ 5 ครูผู้สอนจะจัดทัศนศึกษาโดยมีแนวการจัดการเรียนรู้ขึ้นตามธีมบ้านที่เกิดขึ้น เพื่อพานักเรียนออกไปเรียนรู้โลกภายนอก จากผู้เชี่ยวชาญใดด้านต่างๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทดลองลงมือทำงานจริงในสายงานที่นักเรียนสนใจ นำเสนอความก้าวหน้าของโครงงานเป็นระยะให้ครูผู้สอนได้ทราบ โดยทั่วไป แผนการทำงานนักเรียนจะต้องเขียนรายสัปดาห์และจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าโครงงาน “Progress project” ในสัปดาห์ที่ 6 เพื่อตรวจเช็คผลงานที่ทำ โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้ช่วยวางแผนและตัดสินใจว่า โครงงานสามารถไปต่อได้หรือไม่ ควรปรับเปลี่ยนแผนงานหรือเพิ่มแผนงาน ตามศักยภาพของผู้เรียนที่เกิดขึ้น
ในสัปดาห์ที่ 11-12 ผู้เรียนจะต้อง สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้า ปฏิบัติ ทดลองทำโครงงานของตนเอง เพื่อนำเสนอในวัน Exhibition วันสอบวัดประเมินผล ระหว่างครูกับนักเรียน โดยนักเรียนจะต้องนำเสนอข้อมูล วิธีการ ปัญหา สิ่งที่ได้เรียนรู้และถอดบทเรียนจากการลงมือปฏิบัติ นำมาอธิบายให้ครูผู้สอน และ นำเสนอผลงานในรูป Booth ในวัน Fair Booth เพื่อแสดงผลงานให้กับบุคคลภายนอก เพื่อนร่วมบ้านเรียนและเพื่อนต่างบ้านเรียน และในขั้นตอนสุดท้าย นักเรียนจะต้องร่วมสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา ในวง “Reflection” เพื่อถอดบทเรียนของตนเอง เป็นประสบการณ์ ความรู้สึก ความสุข อยากขอบคุณใครที่ช่วยเหลือให้นักเรียนประสบความสำเร็จตลอดเส้นทางการเรียนรู้ในภาคการศึกษานี้
ตัวอย่างบ้านเรียนที่เคยถูกออกแบบขึ้น
บ้านเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 (Grade7 Project House)
วัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 เรียนรู้หลักการทำโครงงานโดยใช้หลักการ FIFA Model ปลูกฝังกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ บ่มเพาะและพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ด้านการวางแผน ค้นคว้า ทดลอง อภิปรายและสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง ภายใต้ธีม “พลังจิ๋ว พิชิตโคโรน่า” มีจุดมุ่งหมายเน้นให้นักเรียนตระหนักถึงสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เปิดโอกาสให้นักเรียนทำโครงงานช่วยเหลือสังคมไทยปัจจุบัน ในรูปแบบตามความสนใจของตนเองที่มีมุมมองแตกต่างกันออกไปอย่างสร้างสรรค์ ให้รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันและรักในเพื่อนมนุษย์ โดยสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดเป็นสำนึกในการอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไป
บ้านเรียนโซไซตี้ (SO.SCI.TY Project House) SO.SCI.TY
ย่อมาจาก Social and Science Community ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับคำว่า Society ที่แปลว่าสังคม เป้าหมายการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนที่มีความสนใจในการออกแบบโครงงานภายใต้ปัญหาและสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า ภายใต้ธีม Science for a Better Society – วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น อาทิ การใช้ขีวิตประจำวันของคนในสังคม การหยุดงานและขาดรายได้ และความจำเป็นที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน ส่งผลโดยตรงต่อภาวะทางร่างกายและจิตใจ ความเครียดที่สะสม ความเบื่อหน่าย สิ่งเหล่านี้สังคมเรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ (New Normal) ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง คือ นักเรียนสามารถนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของนักเรียน
บ้านเรียนศิลปกรรมศาสตร์ (MMAD Project House)
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในศาสตร์และศิลป์ ทางด้านดนตรี สื่อมัลติมิเดีย เทคโนโลยี ศิลปะการออกแบบและด้านวรรณกรรม (Music Multimedia Arts and Design) สร้างสรรค์โครงงานของตนเองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้ธีม “MMAD : Future Together” มีจุดมุ่งหมายเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ทั้งด้านการทำงาน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ โดยอาศัยพื้นฐานสุนทรียศาสตร์เชื่อมโยงกับคุณค่าและพื้นฐานความเป็นมนุษย์ทั้งในเชิงความคิดและเชิงพฤติกรรม
บ้านเรียนวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering Project House)
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในด้านพื้นฐานวิศวกรรม การประดิษฐ์ชิ้นงาน การเขียนโปรแกรม และการสร้างนวัตกรรม เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจและสร้างสรรค์โครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้ธีม “COVID-19 Innovation” มีจุดมุ่งหมายเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิดในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก การคิดค้น พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตเพื่อความปลอดภัยและให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เช่น หุ่นยนต์สู้โควิด ตู้ความดันลบ กล่องป้องกันเชื้อผู้ป่วย การทำเกษตรเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน
บ้านเรียนโขน (Khon Project House)
เป้าหมายการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรียนรู้นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยด้วยการทำโครงงานโขน ภายใต้ธีมบูรณาการวิชาการด้านภาษา สังคม และวัฒนธรรม โขนเป็นกิจกรรมที่ใช้ทักษะทางร่างกาย มีการใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนจากท่าร่ายรำที่ซับซ้อน การรับรู้ ประสาทสัมผัส ทั้งการเคลื่อนไหว การฟังและการทรงตัว เป็นการช่วยฝึกพัฒนาสมองที่ดี เสริมสร้างด้านบุคลิกภาพ ให้มีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเน้นการสร้างความสามัคคี ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมเรียนรู้การเข้าสังคม
บ้านเรียนปิ่นโต (Pinto Project House)
เป้าหมายการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนที่สนใจด้านการทำอาหาร ธุรกิจอาหาร วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีอาหาร หลักโภชนาการ โดยครั้งนี้บ้านเรียนปิ่นโตได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยยึดแนวทางหลักเป็นการทำโครงงานเกี่ยวกับอาหารโดยมุ่งเน้นเชิงพานิชย์มากขึ้น เนื่องจากให้นักเรียนทุกคนได้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ก่อนจะลงมือทำ ให้นักเรียนรู้จักการทำบัญชีของโครงงานของนักเรียนเอง ให้นักเรียนรู้จักการวางแผนการทำงาน การวางแผนการเงิน การลงมือปฏิบัติเพื่อผลลัพธ์ที่มากกว่าอาหารเฉยๆ ให้นักเรียนได้ลองผิดลองถูกกับสูตรเฉพาะของนักเรียนเองและได้เก็บข้อมูลจากผู้บริโภคเองหรือลูกค้าของนักเรียนเอง หลังจากนั้นนักเรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับการตลาดและการจัดจำหน่ายอีกด้วย
บ้านเรียนสตูดิโอ โปรดักชัน (Studio Production Project House)
เป้าหมายการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนที่สนใจด้านการผลิตสื่อมัลติมีเดีย การเขียนบทภาพยนตร์ กระบวนการการแสดง การออกแบบและกำกับภาพ การออกแบบสร้างเสียงดนตรี และ อุตสาหกรรมด้านดนตรี สร้างสรรค์โครงงานของตนเอง ภายใต้แนวคิด “The Icon” เป็นการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพ โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคม
บ้านเรียนศิลปะและการออกแบบ (Art & Design Project House)
เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ ทั้งวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์สร้างสรรค์โครงงานของตนเองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีจุดมุ่งหมายเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ทั้งด้านการทำงาน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้
บ้านเรียนนวัตกร (Innovator Project House)
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในด้านการสร้างนวัตกรรม พื้นฐานวิศวกรรม การประดิษฐ์ชิ้นงาน และ การเขียนโปรแกรม เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจและสร้างสรรค์โครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้ธีม “The Great Reset: New way of living.” มีจุดมุ่งหมายเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อการบริหารการเปลี่ยนแปลง
บ้าน DIY (Do It Yourself)
เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในด้านการสร้างสรรค์ผลงาน การประดิษฐ์ชิ้นงาน เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจสร้างสรรค์โครงงานโดยยึดถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก SDGs (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้ธีม “เชื่อมโยงการประดิษฐ์ สู่อาชีพที่สนใจ” มีจุดมุ่งหมายเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และกระบวนการทํางานทางเทคโนโลยีช่วยสร้างสรรค์ชิ้นงาน ประยุกต์กับความสนใจของตนเองเพื่อสร้างแนวคิดหรือประดิษฐ์สิ่งของใกล้ตัว ให้สามารถใช้งานได้จริง และสามารถเชื่อมโยงสู่อาชีพที่มีประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ
บ้าน Mission to the moon
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนที่มีเป้าหมายหรือความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยากจะลงมือทำให้ประสบความสำเร็จ โดยใช้หลักการพัฒนาตนเอง กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ด้วยตนเองวางแผนการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนให้ชัดเจน
บ้าน Health and Well-being
มีจุดมุ่งหมายเน้นการเรียนรู้กับสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต โครงสร้างและระบบการทำงานของร่างกาย และสุขภาวะทางจิตใจ เพื่อการพัฒนาสุขภาพของตนเองแบบองค์รวม มีสภาวะทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงพร้อมกันทั้งหมด การมีส่วนร่วมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
บ้าน Designer
ให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในด้านการออกแบบงานศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยประเภทต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจและสร้างสรรค์โครงงาน โดยมีจุดมุ่งเน้นด้านคุณสมบัติของนักออกแบบ การเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจ ช่างสังเกต เข้าใจสภาพแวดล้อมของสังคมและวัฒนธรรม เพื่อการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ เชื่อมโยงไปสู่กระบวนการสร้างแบรนด์สินค้า ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาด้านการตลาดและการดำเนินธุรกิจ
บ้าน La La Land
เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสนใจในด้านละคร ดนตรี และศิลปะแขนงต่าง ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจสร้างสรรค์โครงงานโดยยึดถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก SDGs (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้ธีม “Elevate Performing Arts” มีจุดมุ่งหมายเน้นการยกระดับองค์ความรู้ด้านการละครและดนตรีขั้นพื้นฐาน เทคนิคการออกแบบศาสตร์การละครสมัยใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมดนตรี เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์ผลงานด้านการแสดงละครและดนตรีที่ทันสมัย รูปแบบแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์ นำไปสู่การถ่ายทอดผลงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมการแสดงหรือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากทุกบ้านเรียนที่ได้กล่าวมาจะพบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนนี้ ได้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเริ่มต้นจากความสนใจ หรือปัญหา และร่วมกันหาแนวคิด (Idea) ระหว่างนักเรียนและครู นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ และบูรณาการสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามระดับของช่วงชั้น โดยมีครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิดหรือมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกให้คำแนะนำโครงงานร่วมด้วย
นอกจากรายวิชาพื้นฐาน (Core) และวิชาโครงงาน (Project) แล้ว สิ่งหนึ่งที่หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาดำเนินการร่วมด้วย คือ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ “การพัฒนาทักษะชีวิต” กล่าวคือ ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนี้จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมประสบการณ์การเรียนของผู้เรียนอย่างรอบด้าน เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งด้านทักษะความรู้ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น สุขภาพร่างกาย ศีลธรรมจริยธรรม การทำสาธารณประโยชน์ ซึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนี้จะทำให้ผู้เรียนเกิดสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรมัธยมศึกษา โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ลักษณะได้แก่ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมสาธารณประโยชน์
3.1 กิจกรรมแนะแนว (Guidance)
เป็นกลุ่มของกิจกรรมรูปแบบการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การคิด การวางแผน กำหนดเป้าหมายในการเรียนและอาชีพ นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียน ทั้งยังเป็นกิจกรรม ที่ช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน ดังนี้
โฮมรูม (Homeroom)
กิจกรรมโฮมรูม เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมนักเรียนรายบุคคล หรือรายกลุ่ม มีการฝึกปฏิบัติหรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในด้านต่าง ๆ เป็นองค์ความรู้ได้รับประสบการณ์เพิ่มเติมจากการเรียนปกติ เช่น การรู้จักตนเอง การรู้จักผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เป็นต้น โดยกิจกรรมโฮมรูมนี้จะจัดขึ้นในรูปแบบที่ผ่อนคลาย เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้พูดคุย ซักถาม และเปลี่ยน ตลอดจนมีกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยให้มีบรรยากาศเสมือนบ้าน ที่มีนักเรียนกับครูประจำชั้นเปรียบเสมือน บิดา มารดา ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกันร่วมกันทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด
แนวทางการจัดกิจกรรม
ตลอด 1 สัปดาห์จะมีการจัดกิจกรรมโฮมรูมในทุกวัน วันละ 30 – 40 นาที หลังจากเสร็จกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติ ซึ่งมีหัวข้อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ หมุนเวียนกันไปตามความเหมาะสมในแต่ละวัน ดังนี้
- กิจกรรมเกี่ยวกับสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ เช่น การเล่าข่าว เพศศึกษา (Sex education) เหตุการณ์และสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ฯลฯ 1
- กิจกรรมเกี่ยวกับนันทนาการ เช่น การละลายพฤติกรรม การสร้างความเป็นอันหนึ่งกันเดียวกันของนักเรียน (Team building) เกม กีฬาและนันทนาการอื่น ๆ 2
- กิจกรรมเกี่ยวกับพัฒนาคุณภาพจิตใจ เช่น การฝึกสมาธิในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม และการเล่าเรื่องราวดี ๆ 3
กิจกรรมเช็คอินบ้านเรียน (Check in Project)
เป็นกิจกรรมย่อยของโฮมรูม ซึ่งในบ้านเรียนต่าง ๆ เมื่อนักเรียนเลือกเข้าไปอยู่บ้านแล้ว ทางครูประจำบ้านเรียนจะมีการดูและ ตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงงาน ติดตามถามไถ่ทั้งเรื่องการเรียนทำงาน การเรียน และอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ซึ่งโดยมากจะจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันศุกร์หรือพฤหัสบดีช่วงเช้า ประมาณ 10 – 20 นาที
แนวทางการจัดกิจกรรม
ครูประจำโครงงานจะออกแบบกิจกรรมตามรูปแบบของแต่ละบ้านเรียนที่แตกต่างกัน แต่จุดที่เหมือนกันคือ การตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงงาน ประเมินอารมณ์และความรู้สึกของนักเรียน ทั้งนี้บางบ้านเรียนอาจมีกิจกรรมนันทนาการเพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายก่อนจะเริ่มต้นดำเนินโครงงานต่อ เช่น การใช้บอร์ดเกม (Board Game) การใช้กิจการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เป็นต้น
กิจกรรมวิชาแนะแนว (Guidance)
เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จัก รัก เข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถคิดตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา กำหนดเป้าหมาย วางแผนชีวิตทั้งในด้านการเรียนและอาชีพ สามารถปรับตนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียน ทั้งยังเป็นกิจกรรม ที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน
แนวการจัดกิจกรรม
เชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่นักเรียน ในแต่ละภาคเรียน ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงเส้นทางอาชีพ
3.2 กิจกรรมนักเรียน
เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาความมีระเบียบวินัย ความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกัน การรู้จักแก้ปัญหา การตัดสินใจที่เหมาะสม ความมีเหตุผล การช่วยเหลือแบ่งปัน เอื้ออาทรและสมานฉันท์ โดยจัดให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด และความสนใจ ของผู้เรียน ให้ได้ปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติ ตามแผน ประเมิน และปรับปรุงการทำงาน เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น กิจกรรมนักเรียน ประกอบด้วย
กิจกรรมลูกเสือ
เป็นกิจกรรมที่เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการให้แก่ผู้เรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรม ให้การศึกษา และพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งนี้เป็นไปตามความมุ่งประสงค์ หลักการ และวิธีการ ซึ่งสำนักงานลูกเสือโลกได้กำหนดไว้มีวัตถุประสงค์ คือ
- ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง 1
- ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 2
- ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ 3
- ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม 4
- ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ 5
แนวการจัดกิจกรรม
การจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี มีแนวทางการจัดกิจกรรมตามวิธีการลูกเสือ (Scout Method) ซึ่งมีองค์ประกอบ 7 ประการ คือ
- คำปฏิญาณและกฎ ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่ลูกเสือทุกคนให้คำมั่นสัญญา ว่าจะปฏิบัติ ตามกฎของลูกเสือ กฎของลูกเสือมีไว้ให้ลูกเสือเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ได้ “ห้าม” ทำ หรือ “บังคับ” ให้ทำ แต่ถ้า “ทำ” ก็จะทำให้เกิดผลดีแก่ตัวเอง เป็นคนดี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีเกียรติ เชื่อถือได้ ฯลฯ 1
- เรียนรู้จากการกระทำ เป็นการพัฒนาส่วนบุคคล ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ของผลงานอยู่ที่การกระทำของตนเอง ทำให้มีความรู้ที่ชัดเจน และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ และท้าทายความสามารถของตนเอง 2
- ระบบหมู่ เป็นรากฐานอันแท้จริงของการลูกเสือ เป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน การยอมรับซึ่งกันและกัน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็น การเรียนรู้ การใช้ประชาธิปไตยเบื้องต้น 3
- การใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน ฝึกให้มีความเป็นหนึ่งเดียวในการเป็นสมาชิกลูกเสือเนตร นารี ด้วยการใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน ได้แก่ เครื่องแบบ เครื่องหมาย การทำความเคารพ รหัส คำปฏิญาณ กฎ คติพจน์ คำขวัญ ธง เป็นต้น วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนตระหนักและภาคภูมิใจ ในการเป็นสมาชิกขององค์การลูกเสือโลก ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกและเป็นองค์กรที่มีจำนวนสมาชิก มากที่สุดในโลก 4
- การศึกษาธรรมชาติคือ สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งในกิจกรรมลูกเสือ ธรรมชาติ อันโปร่งใสตามชนบท ป่าเขา ป่าละเมาะ และพุ่มไม้ เป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งในการไปทำกิจกรรม กับธรรมชาติ การปีนเขา ตั้งค่ายพักแรมในสุดสัปดาห์หรือตามวาระของการอยู่ค่ายพักแรม ตามกฎระเบียบ เป็นที่เสน่หาแก่เด็กทุกคน ถ้าขาดสิ่งนี้แล้ว ก็ไม่เรียกว่าใช้ชีวิตแบบลูกเสือ 5
- ความก้าวหน้าในการเข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้เด็กทำต้อง ให้มีความก้าวหน้าและดึงดูดใจ สร้างให้เกิดความกระตือรือร้นอยากที่จะทำ และวัตถุประสงค์ ในการจัดแต่ละอย่างให้สัมพันธ์กับความหลากหลายในการพัฒนาตนเอง เกมการเล่นที่สนุกสนาน การแข่งขันกันก็เป็นสิ่งดึงดูดใจและเป็นการจูงใจที่ดี 6
- การสนับสนุนโดยผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่ชี้แนะหนทางที่ถูกต้องให้แก่เด็ก เพื่อให้ เขาเกิดความมั่นใจในการที่จะตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป ทั้งคู่มีความต้องการซึ่งกันและกัน เด็กก็ต้องการให้ผู้ใหญ่ช่วยชี้นำ ผู้ใหญ่เองก็ต้องการนำพาให้ไปสู่หนทางที่ดี ให้ได้รับการพัฒนา อย่างถูกต้องและดีที่สุด จึงเป็นการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย 7
นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.)
บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 เป็นกำลังสำรองของกองทัพไทย ภายใต้การควบคุมของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน โดยโรงเรียนเปิดเป็นสถานศึกษาวิชาทหารดำเนินการเอื้ออำนวยการฝึกโดยเป็นไปตามความสนใจของผู้เรียนเป็น ทั้งนี้ นักศึกษาวิชาทหารจะได้รับความรู้วิชาทหารทั้งในทางเทคนิคและ ทางยุทธศาสตร์ ได้รับการปลูกฝังให้มีอุดมการณ์ เทิดทูน และยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีจิตสำนึกใน เรื่องชาตินิยม เสริมสร้างให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีของชาติ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีความอดทน และอดกลั้น ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ และดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ ต่อสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง จริงจัง และต่อเนื่อง เสริมเสร้างให้มีความรักและสามัคคีในหมู่คณะด้วยกัน รวมทั้งให้มีความสำนึก ในภาระหน้าที่ของตนให้บังเกิดเป็นรูปธรรมและเป็นระบบโดยต่อเนื่อง
แนวการจัดกิจกรรม
ภาคที่ตั้ง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กำหนดให้หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารทำการฝึกทั้งหมด ทั้งหมด 80 ชม. โดยอาจฝึกแบบ 1 (20 สัปดาห์, สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง) หรือแบบ 4 (10 สัปดาห์, สัปดาห์ละ 8 ชั่วโมง) ในชั้นปีที่ 4 และ 5 นั้นจะมีการฝึกศึกษาวิชาเหล่าใน 40 ชม. หลัง
ภาคสนาม นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ทั้งชายและหญิง ให้งดทำการฝึก นักศึกษาวิชาทหารที่สังกัดภายในกรุงเทพฯหรือจังหวัดข้างเคียง ให้ทำการฝึกที่ค่ายฝึกเขาชนไก่ จังหวัดกาญจนบุรี นักศึกษาวิชาทหารชาย ชั้นปีที่ 2 ทำการฝึกภาคสนามเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ชั้นปีที่ 3 ทำการฝึกภาคสนาม เป็นเวลา 5 วัน 4 คืน นักศึกษาวิชาทหารหญิง ชั้นปีที่ 2 และ 3 ทำการฝึกภาคสนาม เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
กิจกรรมพลศึกษา
เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวการออกกำลังกายการเล่นเกมและกีฬาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดยรวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมทั้งสมรรถภาพเพื่อสุขภาพและกีฬา
การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทยและกีฬาสากล ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ การเข้าร่วมกิจกรรมทางกายและกีฬาทั้งประเภทบุคคลและประเภททีมอย่างหลากหลายทั้งไทยและสากลการปฏิบัติตามกฎกติการะเบียบและข้อตกลงในการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายและกีฬาและความมีน้ำใจนักกีฬา
แนวการจัดกิจกรรม
- จัดกิจกรรมกีฬากีฬาสากล – พื้นบ้าน 1
- จัดกิจกรรมกีฬาประเภทบุคคล/คู่ ประเภททีม 2
กิจกรรมชมรม (Club)
เป็นกิจกรรมนักเรียนที่สถานศึกษาสนับสนุนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มกัน จัดขึ้นตามความสนใจ ความถนัด ความสามารถของผู้เรียน เพื่อเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียนตาม เจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
ชุมนุม หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้เรียนที่มีความสนใจ ความถนัดในเรื่องเดียวกันและ ร่วมปฏิบัติกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ของตนเองให้เต็ม ตามศักยภาพ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกในการทำประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ชมรม หมายถึง การรวมกันของกลุ่มผู้เรียนที่มีความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน การจัดตั้งมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ สมาชิก โครงสร้างของชมรม และบทบาทของ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสถานศึกษา
แนวการจัดกิจกรรม
- ครูหรือนักเรียนสามารถเปิดชมรมตามความถนัดและความสนใจของตนเองได้ ซึ่งหากเป็นนักเรียนเปิดจะต้องหาครูประจำชมรมเพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยร่วมด้วย 1
- กิจกรรมชมรมจะเปิดค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้นบางภาคเรียนอาจมีจำนวนชมรมสูงถึง 10 ชมรม ดังตัวอย่างชมที่เคยเปิด เช่น Thai dance, The voice, Origami, Thai handicraft, Movies, Watercolor ฯลฯ 2
3.2 กิจกรรมสาธารณประโยชน์
เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติในลักษณะอาสาสมัครเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้เรียนให้มีความ เมตตากรุณา มีความเสียสละ และมีจิตสาธารณะเพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
แนวการจัดกิจกรรม
ในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์นี้ คณะครูจะร่วมกันออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละระดับชั้น เช่น การทำงานบ้านช่วยเหลือครอบครัว การทำความสะอาด กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงชุมชนใกล้เคียง และมีการนับจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติกิจกรรม สำหรับช่วงเวลาในการทำกิจกรรม คือ ทุกวันพุธ คาบโฮมรูม ในแต่ละสัปดาห์ มีการประเมินกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ (ระบบพาสปอร์ต) และประเมินโดยครูประจำชั้น