แนวคิดการจัดการเรียนการสอน

ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่ออกจากระบบราชการ ดำเนินการสอนแบบ 2 ภาษา (ไทยและอังกฤษ) จัดตั้งขึ้นในปี 2543 และเปิดทำการเรียนการสอนในปี 2544 โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่าง MIT Media Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม เป็นโรงเรียนที่ไม่แสวงหาผลกำไรและไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน มีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ของ Prof.Seymour Papert แห่ง MIT Media Lab ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาใช้อย่างเต็มรูปแบบและยังคงทันสมัยอยู่มาก อีกทั้งยังใช้หลักการบริหารจัดการองค์กรด้วยวิธี Learning Organization ของ Prof.Peter Senge แห่ง MIT Sloan School of Management โดยหลักการทั้งสองล้วนเป็นผลจากการวิจัยค้นคว้าวิธีการเรียนการสอนและการบริหารจัดการองค์กรสู่โลกยุคใหม่ทั้งสิ้น

การสอนน้อย (Teach Less) เรียนรู้ด้วยตนเองมาก (Learn More) เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของ Prof.Seymour Papert แห่ง MIT Media Lab ที่เฝ้าสังเกตการเรียนรู้ของเด็กแล้วพบว่า เด็กจะเรียนรู้ได้ดี ต้องนำเรื่องที่เด็กชอบและสนใจมาให้เด็กลงมือทำ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเต็มตามศักยภาพของผู้เรียน (Learning how to learn) ทำให้ผู้เรียนคิดที่จะคิดต่อไปเองได้ (Thinking about Thinking) ด้วยมีความเชื่อพื้นฐานอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การจัดการศึกษาที่แท้จริงคือการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง (rich learning environment) โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

และมีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ที่ถูกออกแบบให้หมุนเวียนในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง คือ

1) คิดและออกแบบด้วยตนเอง (thinking or designing) เพื่อฝึกฝนการคิดและจินตนาการ การคิดอย่างมีเป้าหมายเป็นรูปธรรม และการคิดในเชิงเหตุผล

2) นักเรียนจะต้องเป็นผู้ที่ลงมือทำด้วยตนเอง (making and doing) มีความเป็นเจ้าของในสิ่งที่ตนเองสร้างอย่างเต็มที่ โดยอาจเริ่มเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้เรียนมีความสนใจ หรือจากปัญหาที่นักเรียนมีความสนใจเป็นพิเศษที่จะค้นหาวิธีแก้ โดยมี facilitator หรือผู้อำนวยการเรียนรู้ เป็นผู้คอยชี้แนะ ให้คำแนะนำและร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียน

3) กระบวนการสะท้อนความคิด (reflecting or contemplating) นักเรียนได้ฝึกฝนสะท้อนความคิด ระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านไป ทำให้เกิดความตระหนักในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้เชิงประจักษ์ (เห็นได้ด้วยตนเอง) ว่าตนเรียนรู้ได้อย่างไร และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร การสะท้อนความคิดนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะเป็นการฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน ที่จะค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์จากการคิดทบทวนสิ่งที่ตนเองได้ทำ หรือรับฟังมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างจากเพื่อน ครู และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้พัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งการศึกษาดูงานวิชาชีพและการฝึกงานในสายอาชีพต่างๆ ตามที่นักเรียนสนใจ เพื่อเปิดประสบการณ์ให้นักเรียนได้รู้จักอาชีพที่หลากหลาย เป็นประโยชน์ในการช่วยให้นักเรียนค้นพบศักยภาพของตนเองและวางแผนการเรียนรู้ต่อไปในอนาคตได้

นอกจากนี้ ดรุณสิกขาลัยยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนานักเรียนให้มีทักษะครบทั้ง 5Q ได้แก่
1. IQ (Intelligence Quotient) คือ พัฒนาผู้เรียนให้มีความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา มีทักษะกระบวนการคิดและมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
2. EQ (Emotional Quotient) คือ พัฒนาผู้เรียนให้มีความมั่นคงทางอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม
3. AQ (Adversity Quotient) คือ พัฒนาผู้เรียนให้สามารถทำงานภายใต้สภาวะกดดันได้ดี มีทักษะการแก้ปัญหาและสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
4. TQ (Technology Quotient) คือ พัฒนาผู้เรียนให้ใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว และเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
5. MQ (Moral Quotient) คือ พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความเป็นไทย โดยทุกเช้าในแต่ละวัน ผู้เรียนทุกระดับชั้นจะรวมตัวกันในคาบ Homeroom เพื่อฝึกสติสมาธิและปฏิญาณตนว่าจะเป็นคนดี ก่อนเข้าเรียนเสมอ

กระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning

กระบวนการจัดการเรียนการสอนของดรุณสิกขาลัยมีรูปแบบเป็น Project-based Learning หรือการเรียนรู้ด้วยการทำโครงงาน ซึ่งผู้เรียนจะได้ลงมือปฏิบัติจริงและมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ ทั้งนี้ โรงเรียนได้ปรับใช้กระบวนการดังกล่าวจากงานวิจัยของ Prof.Peter Senge ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้โรงเรียนเป็น “School that learns” ตามแนวคิด Learning Organization หรือมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยแก่การเรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ได้อยู่เสมอ

ในกระบวนการนี้ ผู้เรียนจะได้ทดลองทำโครงงานชิ้นเล็กๆ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย โดยจะต้องกำหนดหัวข้อและวัตถุประสงค์ของโครงงานจากความถนัดและสนใจของตนเอง แล้วจึงวางแผนและทำโครงงานตามแผนที่วางไว้ โดยใช้วงจร PDCA (Plan – Do – Check – Act) โดยตลอด จนกระทั่งทำโครงงานเสร็จเรียบร้อย ผู้เรียนจะได้สะท้อนความคิดของตัวเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและเพื่อนร่วมชั้น ในขณะเดียวกันผู้เรียนจะมีความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจที่ได้ทำโครงงานสำเร็จ ความเชื่อมั่นนี้เองจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดทดลองทำโครงงานชิ้นใหญ่ขึ้นหรือมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้เรียนมีความกระหายที่จะเรียนรู้ (passion of learning) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ต่อไป (lifelong learning) รวมทั้งมีภาวะผู้นำ และทำงานกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร

นอกจากนี้ ในแต่ละภาคเรียนผู้เรียนจะได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาภายนอกโรงเรียนตามความเหมาะสมของช่วงวัย เพื่อรับองค์ความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงงานของผู้เรียน รวมทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนและสภาพสังคมตามความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้กระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning มีคุณค่าเชื่อมโยงกับโลกภายนอกโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

DSIL FabLearn Lab@School เป็น FabLearn Lab แห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เปิดให้บริการที่อาคารสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ชั้น 10 โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โดยเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียน STEMA ผ่านการสร้างนวัตกรรม ในปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอน FabLearn Lab Class เพื่อปูพื้นฐานการเป็นนักประดิษฐ์และเป็นศูนย์การเรียนรู้สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านโครงงานในห้องเรียนของดรุณสิกขาลัย และจัดการฝึกอบรมด้านการออกแบบและการประดิษฐ์ด้วยเครื่องมือ Digital Fabrication และกระบวนการ Design Thinking เพื่อพัฒนาการการเรียนรู้ หากท่านสนใจเยี่ยมชม FabLearn Lab โปรดติดต่อโรงเรียนดรุณสิกขาลัยได้ตลอดเวลาทำการ (8.00 – 17.00 น.)