ปรัชญา
บุคคลเจริญได้ด้วยจริยธรรมในการดำเนินชีวิตฉันใด องค์กรก็เจริญได้ด้วยจริยธรรมในการดำเนินการฉันนั้น
วิสัยทัศน์
พัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองโลก
พันธกิจ
1) นักเรียนรู้เชิงรุก (Proactive Learner) คือนักเรียนที่มีความใฝ่รู้ กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจ หรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้สนใจก็ตามได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องนั่งรอคำตอบจากครู แต่เป็นฝ่ายเดินไปหาคำตอบด้วยตนเอง ผ่านการลงมือปฏิบัติ ทดลอง ทดสอบ หรือหาข้อมูล และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้
• มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำตามความถนัดของตน
• สามารถวางแผนการเรียนรู้ของตนเองได้
• สามารถประมวลข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ
• สะท้อนบทเรียนและเรียนรู้จากความสำเร็จและสิ่งที่ผิด
2) วินัยภายใน (Self-Discipline) คือ สิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างราบรื่นเรียบร้อย และต้องปฏิบัติตนด้วยความเต็มใจของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีกฎหรือบุคคลมาบังคับ โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้
• รู้และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง และเคารพในความคิดที่แตกต่างของผู้อื่น
• รู้ดีรู้ชั่ว และเลือกทำในสิ่งที่ดีงาม ทำให้มีธรรมาภิบาลในการทำงานในอนาคต
• มีความซื่อสัตย์สุจริต มานะอดทน และพยายามทำสิ่งที่ถูกที่ควรให้สำเร็จจงได้
3) คุณภาพภายใน (Altruism) คือ คุณภาพของจิตใจ มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีศีลธรรมจรรยาและศรัทธาในความดีงาม เมื่อมีความมั่นคงจากภายในก็จะส่งผลให้เห็นคุณภาพภายนอก คือ มีพฤติกรรมอันดีงาม และไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้
• มีสติรู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีสมาธิดี มีความประณีตภายใน และจัดการอารมณ์ตัวเองได้
• มีความรัก ความเมตตากรุณา เห็นคุณค่าของชีวิตตนเองและผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน
• มีมารยาทที่ดีงาม รู้จักกาลเทศะ และรักษาศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทยไว้ได้
• มีภาวะผู้นำตั้งแต่ยังเยาว์วัย
4) ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Responsibility) คือ การประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดี ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ใช้ความรู้ความสามารถช่วยพัฒนาชุมชนรอบตัวและขยายไปสู่สังคมในวงกว้างได้ โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้
• มีจิตอาสา ใช้ความสามารถในการช่วยเหลือและพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
• มีจิตสำนึกรักและตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม รู้จักดูแลรักษาสมบัติของตนเองและของส่วนรวม
