ประวัติโรงเรียน

จากอุดมการณ์การทำงานของคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ประสบการณ์ 12 ปี และต่อมาได้ร่วมงานกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางจนถึงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนผันในเรื่องแนวคิดการบริหารบุคคลสมัยใหม่

พนักงานขององค์กรเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร” มิใช่โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ อาคารสถานที่ หรือคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด และมีความเชื่อว่า “เด็กไทยเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย”

เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณอายุจึงอุทิศตนทำงาน เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนดีและเก่ง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของประเทศและของโลก เพื่อพัฒนาคนไทยให้สู้ได้ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวาง

ในปี 2539 คณะศิษย์เก่า MIT ได้รวมตัวกันก่อตั้งมูลนิธิ FREE โดยมี ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจาก MIT เป็นประธานมูลนิธิ และในปีเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “มูลนิธิศึกษาพัฒน์” คุณพารณซึ่งร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิ และคุณแบงกอก เชาว์ขวัญยืน ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Mathematics จาก Cambridge University และระดับปริญญาโทจาก MIT Sloan School of Management เป็นสองคนในคณะผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ได้ร่วมกันรับงานเรื่องการพัฒนาการศึกษาแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อการเรียนการสอน ด้วยความเชื่อที่ว่า MIT มีเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ จึงได้ประสานงานติดต่อกับ MIT Media Lab เพื่อนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้ชื่อว่า “Constructionism” ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยของ Professor Seymour Papert มาทดลองปรับใช้กับทุกภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนก่อน Professor Seymour Papert เป็นสานุศิษย์ของ Professor Jean Piaget ผู้คิดค้นทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructivism ซึ่งในเวลาต่อมา Professor Papert ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่ MIT เมือง Boston รัฐ Massachusetts และได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการเรียนรู้ต่อยอดจากอาจารย์ของท่าน และเรียกทฤษฎีของท่านว่า Constructionism ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนได้พบว่า ถ้านำผู้เรียนตั้งแต่อายุยังน้อยที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน มาชี้ชวนให้เรียนรู้และทำโครงงานร่วมกัน โดยครูเปลี่ยนบทบาทมาเป็น Facilitator คือเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศในห้องเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ (Conducive to Learning) และบูรณาการด้วยเทคโนโลยี วิชาการ และอื่นๆ เข้าไป จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) และคิดที่จะคิดต่อไปเองได้ (Thinking about Thinking) คือรู้จักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) คุณพารณและคุณแบงกอกได้ปรับใช้และขยายผลทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ในสังคมไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือ Lighthouse Project ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ โดยเริ่มขยายผลไปยังภาคชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งโรงเรียนในระบบและการศึกษานอกระบบ โดยเริ่มต้นจากการศึกษานอกระบบก่อน หลังจากความวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่องของคุณพารณและคุณแบงกอกที่ได้เดินทางติดตามผลงานในที่ต่าง ๆ ทำให้พบว่า ข้อจำกัดด้านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และวิธีการบริหารจัดการ ตลอดจนวิธีคิด (Mindset) ของครูและผู้บริหารส่วนใหญ่ในขณะนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถนำวิธีการ Constructionism ไปขยายผลในโรงเรียนได้ดีเท่าที่ควร คณะผู้บริหารโครงการ Lighthouse Project ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ จึงมีแนวคิดว่า ควรต้องมีโรงเรียนตัวอย่างของตัวเอง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามทฤษฎี Constructionism อย่างเต็มรูปแบบ เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้นจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยบูรณาการด้วยเทคโนโลยี วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทย ศีลธรรมจรรยา และภาษาอังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฟัง พูด อ่าน เขียน และไวยากรณ์ที่เข้มข้นตามลำดับ จนผู้เรียนเข้าใจและมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเท่า ๆ กับภาษาไทย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตัวอย่างที่จะได้รับประสบการณ์ทางการเรียนรู้ตามวิธีการดังกล่าวอย่างเข้มข้นลึกซึ้งต่อเนื่อง และเป็นไปตามธรรมชาติ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมในการเรียนรู้ขึ้นใหม่ คือมีความกระหายที่จะเรียนรู้ (Passion of Learning) โดยผู้เรียนไม่รู้สึกต่อต้าน และติดเป็นนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ทุกประการ

ในปี 2543 คุณพารณดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ออกนอกระบบราชการ โดยมี ดร.หริส สูตะบุตร ศิษย์เก่า MIT เป็นอุปนายกสภา และคุณแบงกอกเป็นกรรมการสภา ทุกคนได้ร่วมกันเสนอสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาการจัดตั้งโรงเรียนต้นแบบตามแนวคิดข้างต้น สภามหาวิทยาลัยจึงมีมติเห็นควรให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 กรฎาคม 2543 โดยมีสถานะเทียบเท่าภาควิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยและมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ ทำให้การบริหารจัดการองค์กรมีความคล่องตัวสูง และเมื่อดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง จะสามารถพัฒนาให้เกิดนักเรียนและครูพันธุ์ใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ได้ รวมทั้งจะพัฒนาไปเป็นสถาบันการเรียนรู้ (Learning Institute) ที่ทันสมัยต่อไปในอนาคต

นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ จึงเริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอนเป็นปีการศึกษาแรก ดำเนินการสอนแบบ 2 ภาษา (ไทยและอังกฤษ) โดยเป็นโครงการนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่าง MIT Media Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม มีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งพัฒนาเด็กไทยให้เป็นพลเมืองโลกและพลเมืองไทยในคนๆ เดียวกันที่รักษาความเป็นไทยไว้ได้และมี passion of learning สูง ด้วยวิธีการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ซึ่งคิดค้นจากผลงานการวิจัยโดย Professor Seymour Papert แห่ง MIT Media Lab และการบริหารจัดการองค์กรตามหลักการ Learning Organization ซึ่งคิดค้นจากผลงานการวิจัยโดย Peter M. Senge แห่ง MIT Sloan School of Management