ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้
Darunsikkhalai School for Innovative Learning

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เลขที่ 126 ถนนประชาอุทิศ บางมด ทุ่งครุ กทม. 10140
โทรศัพท์: (662)-4708315-8
โทรสาร: (662)4708319

รมว.กระทรวงวิทย์ เยี่ยมชม ร.ร.

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เยี่ยมชมการจัดเรียนการสอนตามแนวทฤษฐี Constuctionism... ได้กล่าวถึงดรุณสิกขาลัย ผ่าน FACEBOOK ความว่า....


        "ผมมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ภายใต้การ
กำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่ ให้การต้อนรับ และได้นำผมชมการจัดกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เน้นการปฎิบัติจริง ให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้เองได้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่การสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทความท้าทายของภาคเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต

คุณพารณ เริ่มต้นจากการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 และ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ที่ยึดหลักให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด มาถอดเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติทำจริง ส่งเสริมการคิดเป็นทำเป็น กระตุ้นการเรียนรู้กันเป็นกลุ่มหรือทีมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร จนติดเป็นนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต และตั้งความหวังสูงสุดไว้ว่าสักวันหนึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่มาจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย

และยังพาผมเยี่ยมชมห้องฝึกปฏิบัติต่าง ๆ อาทิ Engineering House ที่ให้นักเรียนได้ประดิษฐ์ชิ้นงานจากความสนใจของตนเอง เช่น อากาศยานไร้คนขับหรือ โดรน Quad Copter และ รถไฟฟ้าส่วนบุคคลของนักเรียนชั้น ม.4 และห้องเรียน Fab Lab ที่ใช้ในการถอดความคิดออกมาเป็นชิ้นงาน รวมถึงโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้น ม.1 เช่น การศึกษาสารกึ่งตัวนำยิ่งยวด หรือ superconductor การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากผิวดินที่เกิดจากการย่อยสลายของแบคทีเรียโดยรวบรวมประจุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ การศึกษา Earth in the Box ที่จำลองสภาพแวดล้อมปิดแบบกรีนเฮ้าส์ที่ใช้ได้นอกโลก การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แผ่นทองแดงจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ผมชื่นชมรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยมาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการทำจริง ซึ่งเหมาะสมกับบริบทของความต้องการนักนวัตกรรมในสภาพสังคมปัจจุบันมาก เราต้องการนักคิดนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ๆ ให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

ผมคิดว่านอกจากเป้าหมายในการผลิตนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลแล้ว โรงเรียนต้องช่วยมองถึงการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ซึ่งอาจเริ่มจากการช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในระบบการศึกษา โดยให้นักเรียนนำประสบการณ์ไปสร้างการเปลี่ยนแปลง และใช้ภาวะความเป็นผู้นำที่ได้ฝึกปฏิบัติมาไปช่วยพัฒนาส่วนอื่นๆ เพราะสังคมไทยต้องการผู้นำด้านต่างๆ เช่น Social leader, Technology leader, Startup leader และ Environment leader

ผมฝากทางโรงเรียนให้ช่วยคิดเรื่องการขยายผลความสำเร็จนี้สู่โรงเรียนอื่นๆ ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย อาจทำเป็นขั้นตอนง่ายๆ ให้ชัดเจน โดยให้คุณครูท่านอื่นๆ สามารถนำไปใช้ทดลองให้เกิดผลได้จริง

ผมเน้นย้ำว่าต้องไม่ใช้หลักการเพื่อนำไปขยายผล เพราะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยาก

ที่มา : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=782474845209159&id=652623864860925